มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

อาจารย์ของลูกศิษย์(ศาสตราจารย์ประเสริฐ วิทยารัฐ)


เดินตามผู้ใหญ่ฯ : ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐ 

ราชบัณฑิตสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง นักภูมิศาสตร์ระดับดอกเตอร์รุ่นแรกของเมืองไทย วัย ๗๔ ปี


ก.ย. 15, 2006

สุเจน กรรพฤทธิ์ : เรื่องและภาพ



หากเทียบตำราเรียนภาษาไทย “มานี มานะ” ของอาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ ซึ่งกลายเป็นความทรงจำอันงดงามในวัยเยาว์ของผู้ที่เรียนชั้นประถมช่วงปี ๒๕๒๑-๒๕๓๗ กับตำราเรียนวิชาสังคมศึกษา อย่าง ส ๒๐๔ ประเทศของเรา ๓ (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒) ส ๓๐๖ ประเทศของเรา ๔ (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓) ส ๕๐๓ สังคมศึกษา (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕) แล้ว ตำราเรียนชุดหลังก็อาจแย่งชิงพื้นที่ความทรงจำได้ไม่มากเท่า

แต่ถ้าเป็นเด็กที่รักวิชาสังคมศึกษาและช่างสังเกต นอกจากเนื้อหาแล้ว สิ่งที่เขาจะจดจำเกี่ยวกับตำราเรียนชุดนี้ แน่นอนว่าย่อมจะเป็นชื่อผู้แต่งคือ “ศ. ดร. ประเสริฐ วิทยารัฐ”

อาจารย์ประเสริฐคือนักภูมิศาสตร์ระดับดอกเตอร์รุ่นแรกของเมืองไทย ที่แต่งตำราภูมิศาสตร์ให้แก่นักเรียนประถมและมัธยมของไทยมาตลอด ท่านจบปริญญาตรีทางด้านศึกษาศาสตร์ (กศ.บ.) ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร) ก่อนได้ทุนไปศึกษาต่อด้านภูมิศาสตร์ระดับปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ถือเป็นนักศึกษาคนแรกของวิทยาลัยฯ ที่เรียนต่อด้านภูมิศาสตร์

ระหว่างศึกษาที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร อาจารย์ประเสริฐยังได้ลงเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ในยุคที่ยังมีคำว่า “วิชา” “และการเมือง” นำหน้าและตามหลังชื่อ) ควบคู่กันไปด้วย และครั้งหนึ่ง ท่านได้ร่วมกับเพื่อน ๆ บุกยึดมหาวิทยาลัยคืนจากทหารเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ (ขณะนั้นทหารมีโครงการซื้อที่ดิน มธก. เพื่อตัดปัญหาการเมืองที่อาจเกิดขึ้นจากนักศึกษา หลังจากยึดมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๔)

หลังจบปริญญาเอก ท่านกลับมาเป็นอาจารย์สอนวิชาภูมิศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเดิม เป็นที่รู้จักของลูกศิษย์ด้วยวิธีการสอนที่แหวกแนว คือ เน้นลงพื้นที่จริงมากกว่านั่งเรียนในห้อง ทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ล่าสุดเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๘ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภูมิศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง

ปัจจุบัน “อาจารย์ประเสริฐ” ของลูกศิษย์ลูกหาในวัยหลังเกษียณ ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง และทำงานในแวดวงวิชาการอย่างมีชีวิตชีวา

“ผมเริ่มต้นแต่งตำราสำหรับนักเรียนหลังจบปริญญาโทใหม่ ๆ เล่มแรกชื่อ การสงวน (อนุรักษ์) ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นตำราระดับมัธยม ตอนนั้นบริษัท “สื่อการค้า” เอาไปพิมพ์ ส่วนตำราสังคมศึกษาระดับมัธยมที่ขึ้นต้นด้วย “ส” ต่าง ๆ ซึ่งเป็นบทเรียนด้านภูมิศาสตร์ที่ใช้สอนกันจนถึงปัจจุบัน ผมแต่งหลังจบปริญญาเอก หลักคิดคือต้องทำให้ต่างจากตำราดั้งเดิมที่เน้นท่องจำ ต้องทำให้เด็กรู้จักสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น ในสนามของโรงเรียนมีต้นไม้อะไร มีสัตว์อะไรที่เขารู้จัก มีแมวกี่ตัว หมากี่ตัว อะไรที่มีอันตราย นี่เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ต้องพึ่งครูด้วย

“ผมอยากให้ครูที่สอนวิชาภูมิศาสตร์ในโรงเรียน พาเด็กออกพื้นที่มากกว่าให้เด็กนั่งเรียนอยู่แต่ในห้อง ไม่ต้องไปไกล สนามเด็กเล่น สนามฟุตบอลในโรงเรียนนั่นละ เพราะเด็กมีสัญชาตญาณและช่างสังเกตมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า ถ้าสอนตั้งแต่วันนี้ วันข้างหน้าเขาจะนำไปใช้ในการเรียนและดำเนินชีวิตได้ ยกตัวอย่าง ผมเคยสอนหลานที่เรียนระดับอนุบาลอ่านพยัญชนะไทย ๔๔ ตัว พอไปถึงตัว “ฆ” ระฆัง เขาประท้วงว่าทำไมพยัญชนะตัวนี้ไม่เรียก “ม” ระฆัง ถึงวันนี้ผมยังหาคำอธิบายไม่ได้ว่าทำไมพยัญชนะตัวนี้เรียกว่า “ฆ” ระฆัง เห็นไหมครับ เด็กมองในสิ่งที่เรามองไม่เห็น ครูต้องพานักเรียนนักศึกษาออกพื้นที่บ่อย ๆ แล้วต้องไปจริง ๆ ผมเคยเห็นนักศึกษาภูมิศาสตร์บางคนออกพื้นที่แล้วไปนั่งอยู่ในรถ ชี้โน่นชี้นี่ ไม่เดินลงไปดู แบบนี้ไม่ถูก ต้องไปสัมผัสคลุกคลีกับมันจริง ๆ

“ทุกวันนี้เราสอนภูมิศาสตร์แบบอังกฤษ คือสอนให้รู้จักประเทศอื่น ๆ ในโลกก่อนประเทศตัวเอง เราต้องเข้าใจว่าอังกฤษเคยเป็นเจ้าอาณานิคม มีเมืองขึ้นทั่วโลก หลักสูตรจึงเป็นแบบนั้น ส่วนระบบอเมริกันเป็นอีกแบบ คือสอนให้รู้จักประเทศตัวเองก่อนรู้จักประเทศคนอื่น เด็กอเมริกันระดับประถม มัธยม พอผมบอกมาจากไทยแลนด์ เขาถามว่าอยู่ส่วนไหนของโลก แต่เขารู้หมดว่าประเทศตัวเองเป็นยังไง คือถ้าถามเรื่องประเทศอื่น ต้องถามเด็กที่เรียนสูงระดับหนึ่งแล้วถึงจะตอบได้ ตอนนี้อังกฤษเองก็กำลังเปลี่ยนหลักสูตรมาสอนให้เด็กรู้จักประเทศตัวเองมากขึ้น ซึ่งผมว่าแบบนี้ดี เพราะโดยพื้นฐานเมื่อรู้จักบ้านตัวเอง ก็จะเกิดความรู้สึกหวงแหนโดยอัตโนมัติ คนไทยไม่รู้จักตัวเอง เลยไม่หวงแหนทรัพยากร ตัดป่าหมด อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่าอยากให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ผมถามว่าอาจารย์จะให้ตัดป่าสักที่มีอายุมากกว่าผมทิ้งเหรอ แน่นอน ลุ่มน้ำยมต้องมีการจัดการน้ำ แต่เขื่อนขนาดใหญ่ไม่จำเป็นเสมอไป เห็นด้วยว่าให้สร้าง แต่น่าจะทำเขื่อนหรือฝายขนาดเล็กหลายจุดโดยไม่กระทบต่อพื้นที่ป่า แต่นี่ไม่ได้หวงป่าเลย จะตัดเพื่อหารายได้จากการทำไม้มากกว่าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างที่อ้างกัน

“ปัจจุบันคนไทยรู้เรื่องประเทศตัวเองน้อย เพราะโรงเรียนไม่สอนอย่างจริงจัง เราต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนภูมิศาสตร์อีกเยอะ ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เกิดขึ้นเพราะคนส่วนกลางไม่เข้าใจภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมของคนที่นั่น ผมเคยสอนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อยู่หลายเดือน ใกล้กับที่นั่นจะมีตำบลหนึ่งเรียกว่า รูสะมิแล นักศึกษาที่นับถือศาสนาพุทธบอกไม่ไป กลัวแขก ผมบอกว่าอยากไปก็ไม่มีใครพาไป บังเอิญนักศึกษามุสลิมคนหนึ่งบอก อาจารย์ ผมจะพาเข้าไป ก็ไปกับเขา จนในที่สุดผมไปพบ “มันเดหยี” ภรรยาอดีตเจ้าเมืองเก่า ไปทำความรู้จักแล้วคุยกับเขา เขาก็ดีมาก ให้เกียรติเรา บอกไม่ต้องไหว้เขา มาคุยกัน เขายังพาไปดูกุโบร์ (สุสานอันเป็นที่ฝังศพของผู้นับถือศาสนาอิสลาม) ของสามี จากนั้นผมก็รู้จักพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยดี นี่ครับคือการทำความรู้จักพื้นที่ มองคนที่นั่นเป็นเพื่อนแล้วจะเข้าใจเขา ไม่ใช่บอกเป็นแขก ไม่ยุ่ง แล้วจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร

“นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมกล้ายืนยันว่า วิชาภูมิศาสตร์ไม่ใช่แค่การท่องจำ แต่เป็นวิชาที่รวมเอาวิทยาศาสตร์กายภาพและวิทยาศาสตร์สังคมไว้ด้วยกันนั่นเอง”


ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 258 สิงหาคม 2549